“แรด” (rhinoceros) ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เรียกได้ว่าถ้าพูดถึงขนาดสัตว์บก นี่แรดเป็นรองเพียงแค่ช้างเท่านั้นเอง โดยถิ่นที่อยู่ของมันจะเป็นบริเวณป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ทุ่งหญ้า หรือตามป่าทึบริมฝั่งทะเล ตามแต่สายพันธ์ แต่จะเน้นไปทางพื้นราบมากกว่าพื้นที่มีความชันสูง อาหารของพวกมันก็คือพืชต่างๆ เช่นหญ้า ไปจนถึง หน่อ กิ่ง ใบ อันนี้ก็แล้วแต่ชนิดของแรดนั่นเอง ซึ่งชนิดของแรดที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบัน ได้แก่ แรดขาว, แรดดำ, แรดอินเดีย, แรดชวา และแรดสุมาตรา ด้วยขนาดที่ใหญ่มาก ๆ (ยาว 3.6-5 เมตร น้ำหนัก 2.3-3.6 ตัน) ของมัน ทำให้มักไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ แต่มนุษย์คือภัยคุกคามอันดับหนึ่งของแรด
- แรดขาว เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
- แรดสุมาตรา หรือมีอีกชื่อเรียกว่า “กระซู่” เป็นแรดที่มีขนาดเล็กมากที่สุด
- นอ เป็นอาวุธไว้ต่อสู้ และป้องกันตัว สร้างขึ้นมาจากสารชนิดเดียวกันกับเล็บของเรา
- ทั้งแรดขาว และแรดดำ จริงๆแล้วมีสีเทา
- แรด ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย
- การที่แรดชอบแช่โคลนเพราะต้องการดับร้อน จากการที่ตัวมันไม่มีต่อมเหงื่อไว้ระบายความร้อนภายในร่างกาย
- แรดมีทั้งนอเดียว และสองนอ แล้วแต่สายพันธ์
- กระซู่เป็นแรดที่ชอบสื่อสารกันมากที่สุด เห็นได้จากความถี่ในการเปล่งเสียงร้องที่มากกว่าแรดชนิดอื่น ๆ
- กองมูลของแรด มีหน้าที่คล้าย ๆ กับโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการที่มันเอาไว้ใช้สื่อสารกันด้วย
- ปัจจุบันแรดเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย
ปกติแล้วแรดตัวเมียจะถึงวัยเจริญพันธ์ในช่วงอายุประมาณ 3-4 ปี ส่วนแรดขาวตัวเมียจะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุ 6 – 7 ปี ส่วนเพศผู้ 10 – 12 ปี โดยจะมีการออกลูกครั้งละ 1 ตัว ซึ่งลูกแต่ละตัวมักจะกินนมแม่จนอายุ 1-2 ปี ทางด้านอายุขัยนั้นปกติ แรดขาวจะอยู่ที่ 40 – 50 ปี แรดอินเดีย 35 – 45 ปี และแรดดำ 35 – 50 ปี ซึ่งเคยมีแรดดำที่เคยมีอายุยืนมากที่สุดในโลกในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในแทนซาเนีย แรดดำเพศเมียอายุ 57 ปี